Skip to content
2016 CRF250R ปรับขุมกำลังและยังเพิ่มสเป็คช่วงล่าง

สำหรับกระแสตอบรับของ CRF250R ปี 2016 ไม่ค่อยฉูดฉาดนัก เหตุผลหลักๆ คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของรูปร่างหน้าตาภายนอกที่ดูไม่แตกต่างจากปี 2015 ที่แม้แต่สติกเกอร์ก็ยังเป็นลายเดียวกัน ซึ่งมันเป็นปราการด่านแรกที่ดูจะไม่ได้รับการเหลียวแลสักเท่าไร เพราะสิ่งที่ฮอนด้าจัดหนักคือในส่วนของเครื่องยนต์และกันสะเทือน ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้การสัมผัสด้วยการขับขี่แล้วจะรู้ว่าฟิลลิ่งมันแตกต่างออกไป

เครื่องยนต์
หน้าตาภายนอกดูเหมือนเดิมมาตั้งแต่ยุคแรกๆ กับฝาสูบเล็กๆ ของระบบยูนิแคม ปลายท่อคู่ยังคงเหมือนเดิมตั้งแต่ปี 2014 ส่วนคอท่อมีระบบเพาเวอร์บอมบ์เพื่อรองรับกับการจัดกระบวนกำลังใหม่ ด้วยการใช้ลูกสูบที่ลดน้ำหนักลงได้อีก แคมชาฟท์ใหม่ วาล์วไอเสียได้เวลาเปลี่ยนจากเหล็กเป็นไททาเนียมเสียที (วาล์วไอดีเป็นไททาเนียมมานานหลายปีแล้ว) พร้อมกับได้จัดสปริงวาล์วใหม่ อัตราส่วนการอัดเพิ่มขึ้นจาก 13.5 ในปี 2015 เป็น 13.8 ในปี 2016 ข้อเหวี่ยงและก้านสูบใหม่ลดน้ำหนักให้เบา ปรับปรุงทางเดินอากาศสู่เครื่องยนต์ให้สะดวกยิ่งขึ้น ขาดไม่ได้คือเรื่องของการพัฒนาระบบไฟจุดระเบิดควบคู่กันไปด้วย ทั้งหมดเพื่อหวังประสิทธิภาพเครื่องยนต์ที่เน้นให้แรงม้าดันไหลไปได้ถึงรอบปลายที่ดีขึ้น

โหมดเครื่องยนต์

เพิ่มทางเลือกพื้นฐานให้กับการใช้งานที่แตกต่างในเรื่องของพื้นผิวแทร็คด้วยปุ่มเลือกโหมดเครื่องยนต์ Engine Select Mode Botton ซึ่งยังคงเหมือนเดิมจากเมื่อปี 2015 ด้วยปุ่มกดสีฟ้าที่ด้านขวาของแฮนด์ กดปุ่มค้างไว้เพื่อเลือกโหมดที่มีให้เลือก 3 ตัวเลือก คือ ไฟกระพริบ 1 ครั้งห่างๆ คือโหมดมาตรฐาน กระพริบ 2 ครั้งคือโหมด Smooth สำหรับสนามลื่นหรือยึดเกาะไม่ค่อยดีมีการหน่วงรอบช่วยไว้ ส่วนกระพริบ 3 ครั้งคือโหมด Aggressive เอาไว้จัดหนักในวันที่มั่นใจกับสภาพแทร็คสุดๆ ด้วยความดุดันที่มากกว่า

กันสะเทือน
ปี 2015 ถือว่าให้มาใหม่กับระบบ Air Fork แต่ปี 2016 ฮอนด้ายังไม่หยุดที่จะพัฒนาต่อเนื่องด้วย Showa SFF-Air TAC เส้นผ่าศูนย์กลางยังเท่ากับปีที่ผ่านมาคือ 49 มม. แต่ได้รับการเพิ่มความยาวโช้คขึ้น 5 มม. นอกจากจะเบากว่าโช้คแบบคอยล์สปริงแล้วยังลดความฝืดของผิวแกนโช้คได้มากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนโช้คหลังก็เป็นการปรับวาล์วภายในและกระเดื่อง รวมถึงลูกกลิ้งรองโซ่ใหม่ใหญ่กว่าเดิม

                                                                     ท่อไอเสียมีเพาเวอร์บอมบ์ช่วยขยายย่านกำลัง
                                                       โหมดเครื่องยนต์มี 3 ระดับปรับที่ปุ่มบนแฮนด์ด้านขวาเหมือนเดิม
                                                                            เพิ่มการป้องกันแผงหม้อน้ำเอาไว้ก่อน (อุปกรณ์ตกแต่ง)
                                                                       เนมแพลทที่คอรถแจ้งที่มาแต่ไม่ระบุปีมาให้
                                                                     ดิสก์การ์ดให้มาพร้อมจานหน้า 260 มม.
                                                             ระบบยูนิแคมเหมือนเดิมที่ต่างไปคือใช้วาล์วไททาเนียมล้วน
                                                                                 คอสูงอานต่ำทำมิติเล็ก
                                                                            อุปกรณ์มาตรฐานใน CRF ตระกูล R ทุกคัน
                                                                 โช้คลมโชว่ารุ่นใหม่แนะนำสเป็คลมโช้คหน้ามาให้คร่าวๆ

 

                                                                                  เครื่องยนต์ปรับใหม่ให้ตืนปลายดีขึ้น

ขอบคุณทีมงานสุรชัยยนต์ จังหวัดพิษณุโลก สำหรับการอดใจรอเพื่อการทดสอบครั้งนี้ น้องไอซ์ กมลภพ ไข่ขำ นายแบบและเจ้าของรถจากสุโขทัย ยางควิกและวงล้อโยโกผู้สนับสนุนคอลัมน์ด้วยดีเสมอมา การประสานงานจากเพลง เกษตร สุคนธ-รัตน์ ชุดนักทดสอบจากเดิร์ทช็อพ และเครื่องดื่ม GSD สำหรับการปิดซีรีส์ MX SAMPLE 2016 อย่างสมบูรณ์ ปีหน้าว่ากันใหม่อย่าลืมติดตามกันนะครับ

                                            กำลังใจเพียบเลยครับงานนี้ ขอบคุณทีมงานสุรชัยยนต์ บ้านกร่าง พิษณุโลก

ความเห็นนักทดสอบ “เขมรัฐ สุธรรมวาท”
“ถ้าไม่ได้เช็คข้อมูลก่อนก็คงดูไม่น่าค้นหาไปอีกรุ่นเพราะเหมือนกันกับ CRF250R ปี 2015 เหมือนเดิมแม้แต่ลายสติกเกอร์ ที่ไหนได้ภายในเขาปรับมาให้เยอะมาก เน้นทั้งเครื่องทั้งกันสะเทือนแทบจะทั้งหมดเลยสัดส่วนตัวรถยังคงเท่าเดิมกับปี 2015 ที่ผ่านมาครับ สั้น สูง บาง และยังคงความเบาไปซะหมดในการควบคุมทั้งบนพื้นและบนอากาศ ขี่ง่ายยังเป็นเหตุผลต้นๆ ในการเลือกใช้มาเป็นรถประจำกาย มันช่วยให้ขี่ได้นานโดยไม่ต้องเปลืองแรง ชอบตรงนี้นะ แต่รถเบาๆ ต้องเซ็ทกันสะเทือนดีๆ ไม่งั้นมันแกว่งไปหมดแม้แต่บนพื้นที่ควรจะนิ่ง ยิ่ง CRF250R ปี 2016 นี่เป็นโช้คหน้าแบบแอร์ฟอร์คตัวใหม่ ยาวกว่าปี 2015 อยู่ 5 มม.เขาว่ามันช่วยเรื่องการทรงตัว ทางทีมงานได้ปรับสำหรับนักแข่งประจำรถที่หนักมากกว่าผมแค่ 3 กก. แต่ขี่ด้วยความดุดันกว่า ผมจึงยังรู้สึกว่ามันยังแข็งไปนิดสำหรับวีไอพีอยู่ดี มิติรถช่วยได้มากสำหรับการขับขี่ในสนามกึ่งทราย ความรู้สึกคือขี่รถคันเล็กๆ สั้นๆ เบาๆ พักเท้าใหญ่ยืนได้เต็มที่ดี ชอบครับ การสตาร์ทเครื่องยนต์ไม่ยากเย็นเช่นเคย ไฟกระพริบด้านซ้ายสีแดงส้มเป็นปุ่มแจ้งสถานการณ์ทำงานของหัวฉีดและใช้กดดับเครื่องในตัว ส่วนด้านขวาเป็นสีฟ้าไว้เลือกโหมดเครื่องยนต์ เจ้าของรถเลือกใช้โหมด 2 ที่เน้นสมูธไม่ดุเดือดคุมคันเร่งง่าย ถึงจะเป็นโหมดไม่จี๊ดจ๊าดแต่ผมว่าความต่อเนื่องของกำลังมันไม่ได้แย่จนรู้สึกหนืดเลยนะ ในโค้งที่เป็นทรายฟุ้งๆ คันเร่งไม่ต้องหนักสักเท่าไรก็พุ่งออกมาได้ง่ายๆ แรงบิดจากรอบต่ำกำลังดีเลี้ยววงในได้ไม่ต้องเค้นมากก็พุ่งแล้ว รวมๆ แล้วผมว่ามันยังคงความเป็นรถที่เน้นความง่ายในการขับขี่ทั้งตัวรถและเครื่องยนต์เหมือนเดิม ที่ต้องเรียนรู้เพิ่มก็คงเป็นเรื่องกันสะเทือนนั่นเอง ถ้านับตามรอบแล้วปี 2017 น่าจะยังคงเป็นบอดี้เดิมอีกปี ไม่รู้ว่าจะมีจุดขายอะไรมาเรียกกระแสไหม ต้องติดตามดูกันครับ”

ข้อมูลเทคนิค
เครื่องยนต์ 4 จังหวะสูบเดี่ยว ระบายความร้อน ด้วยน้ำ 249 ซีซี
กระบอกสูบxช่วงชัก 76.8×53.8 มม.
อัตราส่วนการอัด 13.8 : 1
ระบบขับวาล์ว ยูนิแคม 4 วาล์ว ไอดี 30.5 มม.
(ไททาเนียม) ไอเสีย 25 มม. (ไททาเนียม)
ระบบเชื้อเพลิง PGM-FI เรือนลิ้นเร่ง 46 มม.
จุดระเบิด อิเล็คทริค
เกียร์ 5 สปีด
ขับเคลื่อน โซ่ 520 สเตอร์ 13-49
โช้คหน้า Showa SFF-Air TAC fork
หัวกลับ 49 มม. ปรับแข็ง, หนืด ช่วงยุบ 12.2 นิ้ว
โช้คหลัง โช้คเดี่ยวโชว่า ประเดื่องโปรลิงค์
ปรับสปริงพรีโหลด ช่วงยุบ 12.3 นิ้ว
เบรกหน้า จานเดี่ยว 260 มม. คาลิเปอร์สูบคู่
เบรกหลัง จานเดี่ยว 240 มม. คาลิเปอร์สูบเดี่ยว
ยางหน้า 80/100-21
ยางหลัง 100/90-19
ฐานล้อ 58.6 นิ้ว
สูงถึงเบาะ 37.4 นิ้ว
สูงจากพื้น 12.7 นิ้ว
ถังน้ำมันจุ 7.5 ลิตร
น้ำหนัก 231 ปอนด์ / 103 กก.
(น้ำหนักพร้อมขับขี่)