ปี 2016 เป็นปีที่ทั้งสี่ค่ายโมโตครอสญี่ปุ่นประกาศตัวเป็นผู้นำเข้ารถ โมโตครอสผ่านบริษัทในประเทศไทยโดยมีตัวแรงพิกัดยอดฮิต 250F เป็นหลัก และคาวาซากิเป็นค่ายแรกที่นำส่งรถ KX250F ถึงมือลูกค้าได้ก่อนใคร โดยการจำหน่ายของศรีสกลมอเตอร์สปอร์ต แน่นอนว่าไรดิ้งแมกกาซีนไม่รอช้าคว้าโอกาสในการทดสอบมาฝากก่อนใคร กับคอลัมน์ซีรีส์ที่แฟนโมโตครอสต้องดู MX Sample 2016 โดยการสนับสนุนของ ยางรถจักรยานยนต์ควิกและวงล้อโยโก
2016 เป็นปีที่ไม่น่าตื่นเต้นนักสำหรับโมโต
ครอสจากแดนอาทิตย์อุทัย เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางรูปธรรมที่ไม่มากมายถึงขนาดจะดึงดูดใจให้เกิดกระแสขึ้นมาได้ แต่กระนั้นตลาดรถสนามทางฝุ่นก็ไม่ได้เงียบเหงา ยังคงมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่องจากการเป็นกิจกรรมที่เพิ่มความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดย KX250F เป็นอีกหนึ่งค่ายที่สายแข็งมองข้ามไม่ได้ เนื่องจากหากมองกันในกลุ่มโมโตครอสจากญี่ปุ่นด้วยกันแล้ว มันคือรถที่มากมายไปด้วยฟังก์ชั่นการใช้งานและเทคโนโลยีจากตัวแข่งระดับโลกที่ทะยอยบรรจุเอาไว้แม้ว่าจะไม่ได้ปรับเปลี่ยนทางด้านดีไซน์แบบผิดหูผิดตาก็ตาม
สองหัวฉีดยังเป็นจุดขาย
ด้วยพื้นฐานของเครื่องยนต์ 4 จังหวะสูบเดียวแบบ DOHC สามารถเปลี่ยนโหมดการสำแดงฤทธิ์เดชได้ด้วยการสลับคับเลอร์หรือปลั๊กเสียบที่จะช่วยเปลี่ยนนิสัยให้กับมัน และระบบเชื้อเพลิงแบบหัวฉีดที่ไม่มีอะไรน้อยหน้าคู่แข่งแล้ว ยังมีสิ่งที่เป็นแต้มต่อเหนือกว่าคือการที่ค่ายสีเขียวใช้หัวฉีดเชื้อเพลิงถึงสองหัววางไว้ในตำแหน่งที่ต่างกัน เพื่อการคงประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ได้อย่างยาวนาน มีย่านของรอบเครื่องยนต์ที่เรียกใช้ได้อย่างกว้างขวางกว่า เป็นแนวคิดที่นำมาสู่การใช้งานจริงเมื่อหลายปีก่อน และยังเพิ่มความแข็งแรงด้วยลูกสูบแบบพิเศษมาให้อีกด้วย นับเป็นความแข็งแกร่งของเครื่องยนต์ที่ยังคงครองใจนักบิดสไตล์รอบเรียกไวไม่ตันเร็วไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ผสานด้วยการเรียบเรียงขุมพลังให้ดุดันจากคอท่อไอเสียแบบเพาเวอร์บอมบ์
กันสะเทือน สำหรับมือก้าวหน้า
KX250F เป็นเพียงค่ายเดียวที่เคลือบผิวแกนโช้คหน้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนตัวมาให้จากโรงงาน และไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาด้วยการนำระบบแยกการทำงานของตะเกียบหน้าทั้งสองตัวมาใช้ (Separate Front Fork) ก่อนใครเช่นกัน แม้ CRF250R ปี 2015 และ RM-Z250 ปี 2016 จะแซงหน้าไปแล้วด้วยการใช้แรงดันอากาศแทนสปริง แต่ KX250F ก็ยังคงเชื่อมั่นว่าระบบสปริงในโช้คหน้าด้านขวายังเหมาะกับรถระดับ 250F มากกว่า โดยได้พัฒนาเป็น SFF TYPE 2 ที่มีน้ำหนักเบาแต่ประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม ส่วนโช้คหลังยังคงไว้ใจใช้บริการโช้คเดี่ยวของแบรนด์เดียวกัน Showa ที่สามารถปรับค่าการทำงานได้อย่างครบถ้วนร่วมกับกระเดื่องยูนิแทร็คเหมือนเช่นเดิมและใช้สีเขียวสดประจำค่ายในการเพิ่มสีสันให้กับขดสปริงต่อเนื่องเป็นปีที่สองอีกหนึ่งทีเด็ดของชุดช่วงล่างคือระบบเบรกด้วยดิสก์เบรกหน้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในคลาสเดียวกันถึง 270 มม. ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานของตัวแรงระดับ 450F
เอาใจนักแข่งทุกไซส์
นอกจากเทคโนโลยีในส่วนหลักของตัวรถแล้ว KX250F ยังได้เพิ่มทางเลือกที่มากกว่าสำหรับนักแข่ง (หรือนักขี่) ด้วยการเผื่อให้สามารถปรับความสูงของพักเท้าที่มีระดับความสูงต่างกัน 5 มม. มากพอที่จะส่งผลในการควบคุม อีกจุดที่มีผลมากเช่นกันคือตำแหน่งยึดแฮนด์บนแผงคอบนที่สามารถขยับให้ใกล้หรือไกลได้ตามถนัดถึง 4 ระดับ รวมการปรับได้มากสุดถึง 35 มม. ขอบคุณการเปิดโอกาสทดสอบในครั้งนี้จากบริษัท คาวาซากิ มอเตอร์ เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย) จำกัด ขอบคุณการประสานงานถ่ายทำและทดลองโดยคุณเกรียงไกร วรรัตนธรรม แห่งศรีสกลมอเตอร์สปอร์ต ผู้จำหน่ายรถแข่งคาวาซากิ KX250F โทร 08-1873-4551 ขอบคุณสถานที่ถ่ายทำสนามท่ารั้ว จ.เชียงใหม่ ขอบคุณเครื่องดื่ม GSD ชุดนักทดสอบ SCOYCO และร้านเดิร์ทช็อพ ขาดไม่ได้เสี่ยไข่เอ็นจอย ยุทธพงษ์ เทพประสงค์ เจ้าของรถใจดีที่มาร่วมออกกำลังกายยามเช้าอย่างเต็มใจ คิวต่อไปจะเป็นสีไหน เป็นค่ายโปรดของใคร โปรดติดตาม
ข้อมูลเทคนิค 2016 KX250F
เครื่องยนต์ ระบายความร้อนด้วยน้ำ, 4 จังหวะสูบเดียว DOHC 4 วาล์ว
ปริมาตรกระบอกสูบ/ ลูกสูบ x ระยะชัก 249cc / 77.0 x 53.6 มม.
ระบบเชื้อเพลิง 2 หัวฉีด DFI เรือนลิ้นเร่งเคฮิน 43 มม.
อัตราส่วนการอัด 13.8:1
ระบบจุดระเบิด Digital DC-CDI
ระบบส่งกำลัง เกียร์ 5 สปีด คลัทช์แบบหลายแผ่น
ระบบขับเคลื่อน โซ่ 520
เฟรม เฟรมเหลี่ยมอลูมินัม
แรค / เทรล 28.7 องศา / 5.0 นิ้ว
โช้คหน้า 48 มม. หัวกลับ Showa SFF ทำงานแยกส่วน สปริงพรีโหลด
40 ระดับ คอมเพรสชั่น 22 ระดับ รีบาวด์ 20 ระดับ ช่วงยุบ 12.4 นิ้ว
โช้คหลัง กระเดื่องยูนิแทรคพร้อมโช้คเดี่ยว SHOWA โลว์สปีด 19 ระดับ
และไฮสปีด 4 รอบ รีบาวด์ 22 ระดับ ปรับสปริงพรีโหลด ช่วงยุบ12.2 นิ้ว
ยางหน้า / ยางหลัง 80/100-21 / 100/90-19
เบรกหน้า ดิสก์เบรกเดี่ยว 270 มม. กึ่งโฟล์ทติ้ง คาลิเปอร์ลูกสูบคู่
เบรกหลัง ดิสก์เบรกเดี่ยว 240 มม. คาลิเปอร์ลูกสูบเดี่ยว
ยาว / กว้าง / สูง / สูงจากพื้น / สูงถึงเบาะ 85.4 นิ้ว / 32.3 นิ้ว / 50.0 นิ้ว / 58.1 นิ้ว / 13.0 นิ้ว / 37.2 นิ้ว
น้ำหนัก 104.2 กก.
ถังน้ำมันจุ 7.3 ลิตร
ยุทธพงษ์ เทพประสงค์ (ไข่ เอ็นจอย จ.เชียงใหม่) เจ้าของรถ KX250F ปี 2016
“รถที่ใช้อยู่ก็ CRF250L และ CRF250R ครับ ที่ตัดสินใจซื้อ KX250F ก็เพราะว่าอยากจะลองดูค่ายอื่นบ้าง จริงๆ ก็ชอบทุกสี ตอนนี้ที่ติดใจก็คือระบบช่วงล่างแล้วก็กำลังเครื่องยนต์ที่เรียกตอนหน้าเนินคือมันทันใจแล้วก็ไม่ต้องเดินแรงในแบงค์ สรีระมันเล็กกะทัดรัดจากรถที่มีอยู่ ทำให้ท่าทางการขี่ต้องเปลี่ยนครับ”
ความเห็นนักทดสอบ
เขมรัฐ สุธรรมวาท
“ในปี 2016 KX250F ไม่ได้มีอะไรงอกเงิยขึ้นมากว่าปี 2015 ครับ ถือเป็นจุดอ่อนของปีล่าสุด นั่นน่าจะเป็นเพราะว่าทีมงานเน้นที่จะโชว์และให้พุ่งความสนใจไปที่ KX450F โฉมใหม่มากกว่า ดังนั้น KX250F ปี 2016 จึงยังคงเอาไว้ซึ่งคุณสมบัติและรายละเอียดทางเทคนิคเช่นเดียวกับรุ่นปี 2015 ครับ มองในมุมของผู้ติดตามและชื่นชอบในเรื่องการอัพเดทอาจจะผิดหวังไปบ้าง แต่ถ้าพิจารณาให้ดีจะพบว่า KX250F เป็นรถที่ถูก “เพิ่มเติม” ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ มาอย่างต่อเนื่อง จนแทบจะถูกเรียกได้ว่า “เติมเต็ม” กันไปแล้วตั้งแต่ปี 2015 ที่ผ่านมา หลายสิ่งหลายอย่างที่ยังไม่มีในค่ายอื่น ไม่ว่าจะเป็นระบบหัวฉีดคู่ และลันช์คอนโทรล โช้คหน้าที่มีการเคลือบผิวแกนโช้ค พักเท้าที่สามารถเลือกปรับความสูงได้ ดิสก์เบรกหน้าโอเวอร์ไซส์ มันคือสิ่งที่ค่ายอื่นไม่มีให้ ขณะที่เทคโนโลยีเท่าเทียมก็ไม่มีอะไรน้อยหน้าค่ายอื่น โช้คหน้าแบบ SFF แฮนเดิลบาร์ปรับตำแหน่งได้ คอท่อไอเสียเพาเวอร์บอมบ์ คับเลอร์เปลี่ยนโหมดเครื่องยนต์ มีให้เลือกใช้กันอย่างพร้อมสรรพที่ยังมาพร้อมมิติของตัวรถที่ปราดเปรียว ถ้าปรับปรุงรูปร่างของปลายท่อไอเสียให้เล็กและสั้นกว่านี้หน่อยมันจะดูพลิ้วกว่านี้ ความรู้สึกของเครื่องยนต์ยังคงสร้างความประทับใจได้เสมอจากการตอบสนองแบบไม่มีรีรอและส่งแรงม้าออกมาแบบเนื้อๆ ความรู้สึกของคนที่ได้สัมผัสจึงไปในทางเดียวกันว่ามัน “แรง” ขณะที่กันสะเทือนอาจจะขัดใจหน่อยสำหรับมือใหม่ แต่ถ้าได้เพิ่มความเร็วในระดับหนึ่งแล้วจะพบว่ามันคือโช้คที่รองรับมือระดับก้าวหน้าถึงโปรโดยไม่ต้องไปพึ่งโช้คโมแต่อย่างใด พร้อมกับคาแรคเตอร์ของการทรงตัวที่ไว้ใจได้ ผนวกกับเบรกที่ตอบสนองฉับไว เป็นรถที่จะสนุกกับสมรรถนะของมันเพื่อการพัฒนาฝีมือได้อย่างดีครับ