การแข่งขันรถจักรยานยนต์วิบากในปัจจุบัน มีการประยุกต์ดัดแปลงให้แตกต่างหลากหลายออกไปมากมาย ตามการเปลี่ยนแปลงของความก้าวหน้า รูปแบบการแข่งขันเอ็นดูโร่ที่ต้องใช้การเดินทางต่อเนื่องเห็นจะเป็นเกมที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาถนนหนทางมากที่สุด
เมื่อพื้นที่ไม่อำนวยกับการแข่งขันเส้นทางไกล ก็จำเป็นต้องสร้างอุปสรรคจำลองขึ้นมาในเส้นทางวนรอบเลียนแบบธรรมชาติ รูปแบบ “เอ็นดูโร่ครอส” จึงเกิดขึ้นมา และเพิ่งมีการจัดแข่งขันเก็บคะแนนอย่างจริงจังในประเทศไทยเมื่อปี 2013 เพื่อเปิดโอกาสให้นักแข่งรุ่นใหม่ได้มีโอกาสแสดงฝีมือในอีกรูปแบบของเกมทางฝุ่นที่ไม่ใช่แค่ความเร็ว แต่ต้องแม่นด้วยทักษะและอึดด้วยร่างกายอันทรหด แน่นอนรถแข่งก็ต้องแกร่งด้วยเช่นกัน ทีมงานไรดิ้งได้โอกาสอีกครั้งกับการทดลองทดสอบขับขี่รถแข่งเจ้าของตำแหน่งแชมป์ประเทศไทย รุ่นเอ็นดูโร่ไทยแลนด์ไบค์ จากรายการนิ่ม บ้านลูกโป่ง เอ็นดูโร่ครอส 2014 โดยเป็นรถแข่งประจำตัวของนักบิดหนุ่ม จากเมืองสามหมอก จังหวัดแม่ฮ่องสอน เขมนันท์ คฤหาสน์ทอง ในสังกัดทีม PTT Challenger Quick Gazi Scoyco CME Club Banlookpong D.I.D เป็นนักแข่งที่เริ่มต้นจากรถบังลม ติดตามแข่งขันด้วยความพยายามจนทีมงานเห็นถึงความตั้งใจจริงจึงได้ชักชวนเข้าร่วม จนกระทั่งประสบความสำเร็จด้วยการคว้าตำแหน่งแชมป์ประเทศไทยมาครอบครองได้สำเร็จ ด้วยรถแข่งที่โมดิฟายขึ้นมาจากรถวิบากโชว์รูมที่ใครๆ ก็เป็นเจ้าของได้ Honda CRF250L วิบากไทยคุณภาพส่งขายทั่วโลก อ้อ…รถคันนี้แข่งขันโดยใช้หมายเลข 119 เมื่อได้แชมป์จึงติดเบอร์ 1 พื้นหลังสีทอง
เครื่องเดิมเพิ่มไฟให้นิ่งโมซิ่งด้วยท่อ
แนวทางการทำเครื่องคันนี้คือ “เหนียว” เพราะการแข่งขันเอ็นดูโร่ครอสนั้นแต่ละสนามจะแข่งกันถึง 2 โมโต โมโตละ 30 นาที + 1 หรือ 2 รอบ รวมแล้ว ราว 80 นาที ถือว่าเป็นการแข่งที่กินเวลายาวนานที่สุดในสายฝุ่นบ้านเรา เป้าหมายคือต้องจบการแข่งขันให้ได้ ปกติเครื่องยนต์ของ CRF250L มีความโดดเด่นที่แรงบิดดีพร้อมกับมีย่านกำลังที่กว้างอยู่แล้ว ติดที่ว่าแรงม้ามันต้องรับภาระน้ำหนักตัวมากไปหน่อย กับกันสะเทือนที่ทิ้งขว้างแรงม้าก่อนลงพื้นมากไปนิด รวมทั้งกติกาที่คุมเอาไว้ไม่ให้ยุ่งกับเครื่องยนต์มากไป จึงหันไปเน้นเรื่องของระบบไฟที่นับว่าเป็นหัวใจในการทำงานของระบบหัวฉีด โดยมีการต่อสายกราวด์เพิ่มเติมเพื่อให้ไฟเดินนิ่ง ส่งผลดีโดยตรงต่อวงจรการทำงานของระบบสั่งงานหัวฉีด ต้นกำลังของเครื่องยนต์ยุคใหม่นั่นเอง สำหรับความแรงของเครื่องยนต์ก็จัดท่อไอเสียไปหนึ่งใบไล่ยาวมาตั้งแต่คอจนถึงปลาย พร้อมกับได้มีการไล่สเตอร์เพิ่มอัตราทดเพื่อช่วยแรงบิดในรอบต้นให้ดีขึ้น
ช่วงล่างโมใหม่
ดูจะไม่สมดุลกันเท่าไรกับเครื่องยนต์ที่ตอบสนองได้อย่างกว้างขวางและดุดัน แต่กันสะเทือนกลับนุ่มนิ่มซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายได้ง่ายหากขับขี่ด้วยความเร็วในระดับแข่งขัน ดังนั้นจึงมีการโมดิฟายในส่วนของโช้คหน้าและหลังให้มีการทำงานที่ช่วยนักแข่งให้สามารถเพิ่มความเร็วพร้อมควบคุมทิศทางได้ง่ายขึ้น ถือว่าเป็นโจทย์ที่ยากเอาการเนื่องจากน้ำหนักตัวที่ต้องรองรับนั้นไม่น้อย สำหรับโช้คเดิมๆ ก็โมดิฟายเพิ่มเติมขึ้นมาได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ระบบเบรกเดิมสนิททั้งหมดไม่ต่างจากรถที่ขายให้ใช้งานกันทั่วไป
อุปกรณ์
มาดู “ของ” กันบ้างในรถแชมป์คันนี้ เริ่มจากหน้ารถที่มีการปรับเปลี่ยนส่วนบังคับควบคุมด้วยการรื้อชุดแฮนด์เดิมที่เล็กและปลายแคบออก จากนั้นก็ติดตั้งตุ๊กตาแฮนด์ขนาดใหญ่เข้าไปเพื่อรองรับกับแฮนด์ทวินวอลล์ ความแข็งแรงสำคัญสำหรับรถแข่ง ปลอกแฮนด์เลือกของ DRC ที่ใช้งานมาอย่างสมบุกสมบัน คันเกียร์เปลี่ยนใช้ของแต่ง ยางทั้งหน้าและหลังใช้ Quick ขนาด 80/100-21 ที่ด้านหน้า และ 100/100-18 ที่ด้านหลัง พลาสติกชิ้นป้ายข้างถูกปลดออกไป ลวดลายคาดใหม่ด้วยสติกเกอร์แต่งกับผ้าเบาะเดิม…เท่านี้เองสำหรับอุปกรณ์เสริมในรถแชมป์ที่แสนจะเรียบง่ายคันนี้
ขอบคุณทีมงาน PTT Challenger Quick Gazi Scoyco CME Club Banlookpong D.I.D ทุกๆ ท่านที่สละเวลามาอำนวยความสะดวกในการถ่ายทำ ขอบคุณสถานที่เรือนแพเอ็นดูโร่ปาร์ค ชุดนักทดสอบสคอยโก้ และเมก้าเดิร์ท เครื่องดื่ม GSD ผู้สนับสนุนการทดสอบ
ความเห็นนักทดสอบ
“เป็นอีกครั้งที่ทีมงานไรดิ้งได้รับความไว้วางใจจากทีมแข่ง ให้ได้สัมผัสกับการ ขับขี่ทดสอบรถแข่งดีกรีแชมป์ประเทศไทย ครั้งนี้เป็นรถแข่งของสายเหนือครับ
มิติท่าทางการขับขี่ เริ่มจากแฮนด์ที่ยกสูงและกางมากกว่าแฮนด์ติดรถ ผมว่ามันช่วยได้การช่วยพลิกเลี้ยวรถทำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการเลี้ยววงแคบยังเป็นจุดเด่นของ CRF250L ครับ กันสะเทือนเป็นเรื่องที่ต้องคิดถึงแรกๆ ถ้าจะเอา CRF250L ไปแข่ง คันนี้ปรับปรุงมาทั้งหน้าและหลังจนทำให้ความรู้สักที่สัมผัสได้นั้นแตกต่างจากของเดิมมาก การเบรกก่อนจะเข้าโค้งรถจะมีความนิ่ง ไม่โยนตัว ทำให้คุมรถเข้าโค้งได้ง่าย การรองรับน้ำหนักถือว่าในส่วนการรับแรงกดนั้นดีกว่าเดิมมาก แต่รีบาวด์หรือการคืนตัวยังไวอยู่ เวลาขี่ทำให้ต้องโยกตัวไปข้างหน้าหรือหลังมากกว่าปกติเพื่อต้านแรงดีดเวลาที่โช้คคืนตัว ถ้าแก้ไขเรื่องรีบาวด์ได้จะขี่ได้เร็วขึ้นกว่านี้อีกเครื่องยนต์ได้ถูกปรับย้ายย่านกำลังไปเรียบร้อย แรงม้าจะเริ่มสำแดงเดชเอาในรอบกลางถึงปลาย ถามถึงตีนต้นผมว่ารถเดิมดีกว่าเห็นๆ แต่นักแข่งเจ้าของรถค่อนข้างจะมือหนักและขี่รอบสูง ถามว่าแรงกว่าเดิมมากไหม…ต่างจากเดิมอย่างรู้สึกได้แต่ไม่ได้หนักหน่วงรุนแรงจนทำให้รู้สึกเบา จะเร่งจากโค้งให้ฉับไวยังคงต้องใช้บริการระบบคลัทช์อยู่ ยังคงมีอารมณ์ของรถตลาดเอาไว้ให้รู้สึก การชิพเกียร์ ง่ายดายนุ่มนวลมาก การปรับกันสะเทือนชุดนี้นับว่า เพียงพอที่จะรับกับกำลังเครื่องยนต์ที่ปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่เมื่อกันสะเทือนมันรับได้แล้ว เราก็จะสามารถใช้กำลังงานของเครื่องยนต์ได้อย่างเต็มที่มากยิ่งขึ้นครับ เป็นรถที่แรงขึ้น ให้กำลังได้ดีในรอบที่สูงขึ้น ขี่ได้เร็วขึ้น แฮนด์ที่สูงช่วยให้ควบคุมสะดวกมาก กันสะเทือนรองรับแรงกระแทกได้ดีขึ้นอย่างชัดเจนถ้าปรับเพิ่มความหนืดได้จะสนุกยิ่งกว่านี้ครับ” เขมรัฐ สุธรรมวาท