การเติบโตของวงการมอเตอร์สปอร์ตเมืองไทยที่หลายคนจับตามองว่ากลุ่มที่บูมที่สุดคือบิ๊กไบค์ แต่ในมุมมองของบุคลากรที่จะก้าวเข้ามาเป็นเลือดใหม่ให้กับวงการในอนาคตนั้นจำเป็นต้องมีการเพาะบ่มภูมิความรู้นอกตำราโดยหาได้จากประสบการณ์จริง โดยเฉพาะการแนะแนวทางให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวขึ้นมาช่วยพัฒนาวงการในอนาคต ยามาฮ่าจึงผุดโครงการ Yamaha Moto Challenge ขึ้นมา เป็นกิจกรรมแนว Motorsport Education หลักสูตรสร้างประสบการณ์นอกห้องเรียน ทีมแข่งจาก 20 สถาบันอาชีวะศึกษาเอกชนตบเท้าเข้าร่วมสู่ความท้าทายครั้งแรกด้วยการรวมพลังทำงานเป็นทีม ส่งรถแข่งที่ปรับแต่งเองกับมือลงแข่งขันในสนามระดับประเทศ และจากผลการแข่งขันทั้งหมด ทีมนครนายก วัดอุดม ยามาฮ่า เอ็กไซเตอร์ ทีม จากวิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการนครนายก
ประสบการณ์นอกสถาบัน
ทีมงานไรดิ้งได้ติดต่อขอทดสอบรถแข่งของทีมซึ่งถือเป็นรถแข่งดีกรีแชมป์จากชัยชนะที่ได้รับอย่างสมศักดิ์ศรี โดยนัดหมายกันที่สนามแข่งรถไทยแลนด์เซอร์กิต หนึ่งในสนามประลองที่สุดเร้าใจ ทีมงานทั้ง6 แบ่งเป็นอาจารย์ 2 และนักศึกษา 4 นำทีมโดยอาจารย์สมยศ ศรีประดิษฐ์ เป็นผู้จัดการทีม อาจารย์ประสิทธิ์ เกตุสายเมือง ฝ่ายสนับสนุน นักศึกษาทั้ง 4 คนคือนายนันทวัฒน์ ตติยก้องเกียรติ (ปวส.1) ผู้ช่วยผู้จัดการ นายมาวิน กองม่วง (ปวส.1) และนายอภิสิทธิ์ กาดสกุล (ปวช.2) และรับหน้าที่นักแข่งโดยนายบุรินทร์ อินทโชติ (ปวช.2) คือทีมงานทั้งหมดโดยได้รับการสนุบสนุนอย่างเต็มที่จากทางสถาบัน ให้ทีมงานออกสู่โลกกว้างจนคว้าโอกาสทัศนศึกษาถึงประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว
หลากหลายมาหลอมรวม
จะเห็นว่าแต่ละคนที่เข้ามาร่วมทีมกันนั้นมีความแตกต่างทางด้านของระดับการศึกษา แต่ไม่ใช่ปัญหาเพราะจริงๆ แล้วคือหนึ่งในเป้าหมายของโครงการนี้ที่จะทำให้เยาวชนอาชีวะได้ท้าทายความสามารถของตัวเองในทุกหน้าที่ พร้อมกับนำเอาความสามารถของตนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อทีม คือการทำงานเป็นทีมเวิร์ค โดยเฉพาะนักแข่งนั้นนับเป็นการผันตัวจากเด็กแว้นบนถนนสู่โลกของการแข่งขันอย่างถูกต้องตามกฎกติกา ก้าวเดินสู่เส้นทางที่ถูกต้องโดยใช้ความสามารถของตัวเองอย่างเต็มที่
รถแข่งแต่งแรงแค่ภายนอก
ทุกทีมในโครงการจะใช้รถจักรยานยนต์ YAMAHA EXCITER 150 ในการนำมาปรับแต่งแข่งขัน แม้ว่าจะเป็นรถสไตล์แฟมิลี่สปอร์ต แต่ก็เป็นความสปอร์ตที่จัดเต็มกว่าทุกรุ่นในท้องตลาดด้วยเครื่องยนต์ขนาด 150 ซีซี ระบายความร้อนด้วยน้ำ ล้อแม็ก โช้คหลังเดี่ยว และยางหน้ากว้างที่พร้อมหันหัวเข้าสนามแข่งได้ทันที โดยทางทีมได้ทำการปรับแต่งตามกติกาให้กับรถแข่งหมายเลข 31 ด้วยการคงสภาพเครื่องยนต์สแตนดาร์ด ปรับแต่งได้คือท่อไอเสีย กล่องไฟใช้ของ API และสามารถถอดกรองอากาศออกได้ ชุดคลัทช์ปรับใหม่ให้ตอบสนองได้ชัดเจนกว่าของเดิม นั่นคือส่วนของเครื่องยนต์ ชิ้นงานภายนอกคือพักเท้าเกียร์โยงแต่ง สเตอร์ และโซ่ทางยามาฮ่าจัดมาให้เลือกใช้ ลงตัวที่ 14/43 ฟันเฉพาะสนามไทยแลนด์เซอร์กิต เบาะปาดใหม่สไตล์รถแต่งตูดมด โช้คหน้าเดิมอัดน้ำมันเพิ่มเพราะสแตนดาร์ดมันนิ่มไป โช้คหลังเปลี่ยนใช้ตัวที่รองรับกับเคาริ่งแต่งให้มีความสูงมากพอไม่ให้ครูดพื้น แฟริ่งรถทำสีทูโทนไม่ได้แบ่งบนล่างแต่ทำข้างละสี เป็นสีม่วงเหลืองมีที่มาจากสีประจำสถาบันนั่นเอง ก้มมองต่ำเห็นได้ชัดว่ามีการถ่วงน้ำหนักรถด้วยแท่งเหล็กเพื่อให้น้ำหนักอยู่ในกติกา เพราะนักแข่งวัยทีนมีน้ำหนักตัวเพียงแค่ 45 กก. กับส่วนสูง 158 ซม.
ต้องขอขอบคุณทีมงาน นครนายก วัดอุดม ยามาฮ่า เอ็กไซเตอร์ ทีม จากวิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการนครนายกที่ไว้วางใจให้นิตยสารไรดิ้งได้สัมผัสตัวแข่งระดับแชมป์ การประสานงานจากนิตยสาร GenR และ Hyper Modify ขอบคุณชุดนักทดสอบจากร้านเดิร์ทช็อพ และร้านโปรช็อพแพดดอค เครื่องดื่ม GSD ตราโสมเกาหลีตังกุยจับ และสนามแข่งรถไทยแลนด์เซอร์กิตสำหรับสถานที่ถ่ายทำ เชิญติดตามความเห็นนักทดสอบของเราทั้งสองคน
ความเห็นนักทดสอบ / เขมรัฐ สุธรรมวาท
“มิติของตัวรถในส่วนด้านหน้าแฮนเดิลบาร์ยังคงเดิมนะครับ ที่รู้สึกต่างออกไปน่าจะเป็นพักเท้าที่ยกขึ้นมาสูงมากแต่วางเยื้องมาด้านหลังมากๆ ด้วย แต่ก็ดีกว่าเพราะจำได้ว่ารถเดิมพักเท้าต่ำมากๆ ตรงนี้ทำให้ฟิลลิ่งของรถแข่งเริ่มมาล่ะ การสตาร์ทเครื่องยนต์ยังเป็นการใช้กุญแจในการต่อไฟเข้าวงจร แล้วกดปุ่มสตาร์ทไฟฟ้า เสียงเครื่องยนต์หนักแน่นเร้าใจดีเหมือนกัน รอบเดินหนักน่าตื่นเต้นย่านกลาง วัดรอบและความเร็ว ไฟบอกเกียร์รวมทั้งมาตรวัดน้ำมันยังทำงานครบน้ำหนักคลัทช์ไม่มากแต่ดีดดีเหลือเกิน สับโดดทุกเกียร์ อารมณ์รถแข่ง กระตุ้นอารมณ์นักแข่งดีเหลือเกิน เครื่องยนต์ตอบสนองดีมากเดินคันเร่งมีกำลังตอบรับแบบเนื้อๆ ทันทีไม่รอรอบเปิดปุ๊บมาปั๊บ ส่งความเร็วได้ต่อเนื่องทุกเกียร์ รอบดันได้ไม่จำกัดไม่มีตันแต่ผมชอบที่จะเปลี่ยนเกียร์ที่ 9,500 rpm รู้สึกว่ารอบมันหล่นลงมาไม่มากให้ความต่อเนื่องดีกว่า เอ็นจิ้นเบรกน้อยขี่ได้ไหลดี เป็นเครื่องยนต์ที่ขี่ได้สนุก การตอบสนองทำให้รู้สึกเหมือนถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลาเบรกคือพระเอกในการควบคุมตัวรถ แม้จะเป็นเบรกประจำรุ่นแต่ประสิทธิภาพของมันเป็นตัวแปรที่สำคัญ เพราะการเซ็ตอัพกันสะเทือนที่ยังต้องหาความพอดีในการทำงานของโช้คหน้า ทีมงานแจ้งว่าโช้คเดิมนิ่มไปจึงทำให้แข็งด้วยการเพิ่มน้ำมัน สิ่งที่ได้คือความแข็งชนิดที่ว่าเหลือช่วงยุบของโช้คหน้าน้อยมาก การเลี้ยวของรถจึงยากตั้งแต่การเบรกที่ไม่มีช่วงยุบมาซับ การแบนรถเข้าโค้งด้วยความเร็วจึงกลายเป็นเรื่องต้องระวัง ตัวรับบทหนักคือยางหน้าพร้อมคันเร่งเพราะต้องอาศัยแรงขับจากล้อหลังช่วยในการยึดเกาะ รอบแรกๆ ผมพบอาการไถลของล้อหน้าที่ชัดมากโดยเฉพาะเมื่อเลี้ยวขวา การเลี้ยวซ้ายอาการจะน้อยกว่าอย่างชัดเจน ความแข็งของโช้คหน้าทำให้ต้องใช้กำลังแขนในการคุมหน้ารถมากเป็นพิเศษ และการเปิดคันเร่งทำได้ช้าในหลายจุดของสนาม ขาออกจากโค้งรถจะบีบไลน์ค่อนข้างยาก โชคดีที่เอ็กไซเตอร์เป็นรถที่มีช่วงยาว ฐานล้อที่มั่นคงเป็นรถที่ทรงตัวดีอยู่แล้ว ผนวกกับเบรกที่ยอดเยี่ยมทำให้ยังพอจับไลน์กว้างๆ ต่อเนื่องได้ ยางที่ใช้และโช้คหลังไม่สร้างความกังวลกลับรู้สึกมั่นคงให้มากกว่า เป็นรถที่เครื่องยนต์ตอบสนองดีขี่สนุกทุกครั้งที่บิดคันเร่งมีกำลังออกมาให้เร้าใจตลอด ตัวรถมั่นคงดี เบรกดีมาก ที่อยากได้คือโช้คหน้าที่ทำงานได้จริงมันจะช่วยให้ขี่ไม่เหนื่อย สนุกกว่านี้ และเวลาจะดีขึ้นแน่นอนครับ”
ความเห็นนักทดสอบ / จตุรงค์ หมื่นทิพย์
“ก่อนหน้านี้ก็ได้สัมผัสกันมาครั้งหนึ่งแล้วกับ Exciter150 ที่สนามแก่งกระจาน ต้องบอกว่าเป็นรถที่ออกแบบ ระยะฐานล้อและมุมเทลได้ค่อนข้างลงตัวกับรถแฟมิลี่สปอร์ต ให้ความคล่องตัวพลิกเลี้ยวได้ง่าย คราวนี้มาต่อยอดจากรถเดิมๆ เพิ่มเติมสมรรถนะของการปรับเซ็ทช่วงล่างเพื่อรองรับสำหรับการแข่งขัน แน่นอนว่าต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน จากสัมผัสแรกกับตำแหน่งโพสิชั่นท่านั่งที่จัดวางเพื่อนักแข่งใน++++ทีมที่ตัวเล็กกว่าผม ทำให้ต้องปรับระยะและท่านั่งให้เหมาะซึ่งก็ไม่ได้ยากเย็นอะไรนัก แต่สิ่งที่เด่นชัดที่สุดก็คือเครื่องยนต์ที่อยู่ภายใต้กฎกติกาห้ามแตะต้อง แต่มันตอบสนองได้ฉับไวมากขึ้นด้วยการเสริมท่อไอเสียและกล่องไฟปรับจูนใหม่ และระบบคลัทช์เดิมๆ ที่มีส่วนช่วยให้การชิพเกียร์แต่ละครั้งกำลังของเครื่องยนต์มันต่อเนื่อง และรวดเร็วจนบางครั้งล้อหน้ายกลอยในจังหวะที่ต่อเกียร์ในโค้ง ในส่วนของรอบเครื่องยนต์จะยาวไปสักนิดสำหรับรถแฟมิลี่ ลากได้เกิน 11,000 รอบ/นาที ซึ่งผมเองใช้เพียง 9,500- 10,000 รอบ/นาที ถึงจะต้องต่อเกียร์เร็วแต่มันเหมาะสำหรับเครื่องยนต์เดิมๆ และสภาพสนามที่สั้นมีโค้งเยอะ ระบบรองรับกันสะเทือนในช่วงของการปรับตัวที่ความเร็วไม่มากก็ยังไม่เจออาการ แต่พอเริ่มเติมคันเร่งและพลิกเข้าโค้งที่เร็วขึ้นสิ่งที่เจอมันคืออาการสะท้านจากโช้คอัพหน้าแก่วง การที่จะเลี้ยวในโค้งแคบสามารถเข้าได้เร็วแต่ออกจากโค้งในมุมแคบไม่ได้ต้องปล่อยให้รถบานออกแต่ก็ไม่ถึงกับแหกออกนอกไลน์ ส่วนโช้คอัพหลังจากที่ได้ขี่ในทางที่เป็นคลื่นหรือการเดินคันเร่งออกจากโค้ง ก็ไม่เจออาการส่ายหรือย้วยให้เสียการทรงตัว ปิดท้ายด้วยระเบรกที่เป็นของเดิมทั้งหมด ทำงานได้ดีเกินคาดกับความเร็วที่เพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นรถที่ขี่แล้วสนุกเพราะกำลังเครื่องยนต์ที่มาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีการบ้านที่ต้องให้ทีมแข่งไปปรับปรุงในเรื่องของโช้คอัพหน้า รับรองว่าจะสามารถควบคุมรถ