กระแสความสนใจของชาวไบค์ชั่วโมงนี้คงจะไม่มีอะไรเกินไปกว่ารถจักรยานยนต์ในพิกัด 250-300 ซีซี เน้นว่าต้องมีสไตล์เน็คเก็ดถึงจะเด็ดสุด ไม่ว่าจะหลุดออกมากี่รุ่นกี่เวอร์ชั่นชาวไบค์ก็หาข้อมูลกันให้วุ่นเพราะทุกรุ่นอยู่ในสายตา ประมาณว่ารักพี่เสียดายน้องไม่รู้จะจับจะจองคันไหนดี คอลัมน์การทำรีวิวของไรดิ้งแมกกาซีนฉบับนี้จัดให้เต็มๆ กับ 3 เน็คเก็ดสุดฮอตที่มีเสียงเรียกร้องแบบทะลุชาร์ต ด้วยการดวลแบบรอบต่อรอบของ Benelli TNT300s สองสูบสัญชาติไทยเชื้อสายอิตาลี, Honda CB300F ตัวเซฟค่ายอินทรี และ Kawasaki Z250 สุดแสบจากสำนักนินจา
แต่ละรุ่นแต่ละค่ายต่างก็มีดีในเทคโนโลยีของตัวเอง การจะเลือกรถสักคันมาครอบครองในราคาค่าตัวแสนกลางๆ แถมมีให้เลือกถึง 3 คัน มันก็คงต้องมองแล้วมองอีกให้มั่นใจ ทีมงานไรดิ้งในฐานะสื่อมวลชนที่มีโอกาสใกล้ชิดจึงนำทั้งสามรุ่นมาทำการทดสอบสมรรถนะและฟิลลิ่งการขับขี่ตามคำเรียกร้องในวัน เวลา สถานที่ และเงื่อนไขสภาพแวดล้อมเดียวกัน ณ สนามแข่งรถแก่งกระจานเซอร์กิต จังหวัดเพชรบุรี ทำเลดีที่มีให้ลองกันทั้งช่วงไหลช่วงดันและการเลี้ยวที่มากพอให้รถแต่ละรุ่นฟ้องอาการที่แตกต่างออกมาได้ชัดเจน รวบรวมข้อมูลและให้ความเห็นโดยสองนักทดสอบขาประจำ รถทุกคันมากันด้วยสภาพเดิมๆ จากโรงงานผ่านการใช้งานรันอินมาเล็กน้อย และใช้น้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 เป็นเชื้อเพลิงเหมือนกันทั้งหมดแม้กระทั่งลมยางก็เท่ากัน จนได้ข้อมูลที่มากพอจะชี้แนะแนวทางในการเลือกคู่ให้เหมาะสมกับการใช้งานที่มีความต้องการแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขอขอบคุณค่ายรถจักรยานยนต์ทั้งสาม Benelli, Honda และ Kawasaki ที่ตอบรับแนวทางการทดสอบอย่างฉับไว สนามแข่งรถแก่งกระจานเซอร์กิตที่ทำให้ได้มุมสวยๆ และขาดไม่ได้คือผู้ร่วมสนับสนุน GSD เครื่องดื่มให้กำลังงานผสมโสมและน้ำผึ้ง โช้คอัพแก๊ส Gazi และปะเก็น FCCI เรื่องราวการทดสอบจะเป็นอย่างไรพลิกไปติดตามกันให้ครบ ส่วนตอนจบเรื่องตัดสินใจคงไม่มีใครบอกได้นอกจากตัวคุณเอง
BENELLI TNT300s
สูงโปร่งโย่งสบายสไตล์รถยุโรป เป็นรถที่สร้างความประทับใจเมื่อแรกเห็นได้ทันทีกับเฟรมรถที่โชว์ดีไซน์สไตล์อิตาลีเต็มๆ ตา เพ่งไปมาจะพบว่ารายละเอียดของแต่ละชิ้นส่วนการทำงานนั้นมันช่างตอบสนองคนชอบแต่งไปได้อย่างคุ้มราคา จัดมาด้วยของแรงๆ อย่างโช้คหน้าแบบหัวกลับที่มีแกนขนาดใหญ่สุดในกลุ่ม ใกล้ๆ กันก็เป็นดิสก์หน้าแบบจานคู่ ดูดีๆ มีสายเบรกแบบสายถักมาทั้งหน้าและหลัง แถมโช้คหลัง ยังวางเอาใจเด็กแนวด้วยการโชว์ฝั่งขวาของตัวรถแบบเต็มๆ รับกันคือสวิงอาร์มขนาดใหญ่และปลายท่อ หดสั้นจบกันที่ท้องรถ ชิ้นงานแปลกตาระยิบระยับปรับได้ยิบย่อยแม้แต่ปลายขาเกียร์ขาเบรกก็ดูมีเอกลักษณ์ในตัวเองอย่างโดดเด่น การไล่โทนสี ของตัวรถ เฟรม เครื่องยนต์ ทำให้ TNT300s เป็นรถที่ดูดีมีมิติอย่างเย้ายวน
เครื่องยนต์แบบ 2 สูบเรียงระบายความร้อนด้วยน้ำ เป็นค่ายเดียวที่บอกกำลังงานสูงสุดมาให้ทั้งแรงม้าและแรงบิดด้วยหน่วยกิโลวัตต์ อัตราส่วนการอัดสูงที่สุด 12.0 : 1 จากปริมาตรกระบอกสูบจริงที่ยิ่งใกล้เคียงมากเช่นกันที่ 299.8 ซีซี ย่านกำลังของ TNT300s โดดเด่นมากในรอบปลาย สถิติเวลาในการทดสอบจากจุดหยุดนิ่งบอกให้รู้ว่าพลังจากเครื่องยนต์ 2 สูบเรียงตัวนี้ไม่ได้น้อยไปกว่าเพื่อนด้วยตัวเลขต่างกันเพียงเศษร้อยของวินาทีเท่านั้น เพียงแต่รอบเครื่องยนต์ที่จะส่งให้แรงม้าออกมาเต็มฝีเท้านั้นอยู่ในย่านหมื่นรอบต่อนาทีซึ่งจัดว่าเป็นรอบกำลังที่ต้องเค้นพอสมควร น้ำหนักตัวคือส่วนหนึ่งที่ทำให้เสียเปรียบอยู่นิดเนื่องจากเป็นโครงสร้างที่เน้นความแข็งแรงสไตล์ตะวันตก ขับเคลื่อนส่วนกำลังด้วยโซ่ขนาดใหญ่ที่สุดเช่นกันด้วยเบอร์ 525 กับสเตอร์ 15/44 ฟัน ล้อแม็กหน้ากว้างรองรับยางขนาดใหญ่ที่จะเพิ่มความมั่นใจให้ทุกการขับขี่
มิติของตัวรถจัดว่าเป็นรถทรงสูงที่สุดและกว้างที่สุดในกลุ่ม แต่ออกแบบให้ผู้ขับขี่มีความรู้สึกเพรียวบางร่างกระชับ กับท่านั่งที่เน้นความสบายสไตล์เบาะต่ำแฮนด์สูง รถจะทรงตัวได้นิ่งดีมากในการขี่ตรงๆ กันสะเทือนที่มีช่วงยุบเยอะและสามารถปรับได้ช่วยเก็บหลุมร่องเล็กๆ น้อยๆ ได้หมด เมื่อต้องเอียงรถขณะเลี้ยวจะพบว่าแกว่งหน่อยในช่วงหนึ่งซึ่งเป็นธรรมชาติของรถที่วางโช้คหลังด้านข้างต่อตรงกับสวิงอาร์ม เมื่อเอียงรถให้เลยจุดแกว่งนั้นมันก็จะกลับนิ่งสนิทอีกครั้ง หรือแก้ได้อีกอย่างด้วยการเร่งเคร่ื่องก็จะทำให้อาการแกว่งนั้นหายไป เสียดายที่แผ่นกันท่อไอเสียอยู่ต่ำไปหน่อยทำให้ครูดพื้นได้ง่ายตอนเลี้ยวขวา ส่วนด้านซ้ายสบายๆ มั่นใจมาก จากการรวบรวมสถิติทดสอบทำให้เราพบว่า Benelli TNT 300s เป็นรถที่ให้ความประทับใจทางสายตาได้อย่างโดดเด่น เสียงเครื่องยนต์ที่นุ่มนวลรัวถี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนใคร ท่านั่ง และการทรงตัวเหมาะกับการทัวร์ริ่งแบบสบายๆ สถิติในการทดสอบระยะเบรกที่ทำได้ดีที่สุดในกลุ่มเป็นการการรันตีว่าดิสก์หน้าคู่ของเขาทรงประสิทธิภาพแค่ไหน
HONDA CB300F
ตลาดใหญ่ขนาดนี้มีหรือยักษ์ใหญ่จะยอมเสียโอกาสไป CB300F คือแฝดคนละฝากับ CBR300R แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยที่ส่วนหน้า จากแฟริ่งที่ปลดออกมาเป็นไฟหน้าโคมเดี่ยว เสริมความแน่นด้วยแฟริ่งสั้นๆ ต่อจากถังน้ำมันมาด้านหน้าให้ดูแน่นหนาบึกบึนขึ้นในส่วนบน ส่วนด้านท้ายเน้นความสปอร์ตล้ำสมัยด้วยเหลี่ยมสันมิติปราดเปรียวเพรียวบาง เครื่องยนต์ใช้โทนสีสว่างทำให้ดูสบายตา CB300F เป็นรุ่นเดียวในกลุ่มที่ใช้เครื่องยนต์แบบสูบเดียวพัฒนาจากบล็อกเดิมของ CBR250R ห้องเครื่องยนต์โดยเฉพาะส่วนฝาสูบที่กลางตัวรถนั้นจึงดูเล็กบางไม่แน่นหนาเหมือนอีกสองคันที่เป็นเครื่องยนต์แบบสองสูบเรียง และน่าจะเป็นเหตุผลที่ต้องทำแฟริ่งเล็กๆ ยื่นยาวมาเพิ่มความบึกบึนให้ส่วนบนของเครื่องยนต์ไม่ดูโปร่งโล่งเกินไป ข้อดีอีกอย่างของการใช้เครื่องยนต์สูบเดียวก็คือมันทำให้ CB300F เป็นไลท์เน็คเก็ดที่มีน้ำหนักน้อยที่สุดในกลุ่ม ปริมาตรกระบอกสูบย่อมลงมานิดที่ 286 ซีซี ได้กำลังงานจากเส้นผ่าศูนย์กลางของกระบอกสูบและระยะชักที่มากกว่าใคร ทำให้แรงบิดที่ได้ออกมาส่งให้กำลังงานในรอบต้นและกลางโดดเด่น ผสานกับเครื่องยนต์ที่พัฒนาระบบส่งกำลัง (คลัทช์) ให้ดียิ่งขึ้น รอบกำลังที่ส่งผ่านออกมากระฉับกระเฉงเมื่อเรียกใช้ แม้จะมีอัตราทดสเตอร์ที่น้อยสุดในกลุ่มแต่อัตราเร่งเมื่อทะยานในรอบกลางก็ยังโดดเด่นด้วยผลการทดลองจากจุดหยุดนิ่งในห้วงช่วงเวลาที่ทำได้ไล่เลี่ยกัน CB300F ทำได้ดีเกินหน้าเพื่อนๆ ในกลุ่มแบบเฉือนไปนิดเดียวเท่านั้น
ไฟหน้าดวงเดียวกับหน้ากาก ทรงแคบทำให้มองดูแล้วรูปร่าง ของมันปราดเปรียว เมื่อขึ้นคร่อมขี่แล้วจะพบว่าส่วนกว้างของถังน้ำมันเมื่อถูกต่อออกไปด้วยแฟริ่งชิ้นเล็กแล้วมันดูเป็นรถที่มีช่วงหน้าใหญ่หนาไม่เบา แฮนด์บาร์ที่สั้นกว่า TNT แต่ยกสูงขึ้นมาหาคนขี่อยู่ในระยะที่ไม่เหยียดมากนัก พักเท้าต่ำและวางได้ง่ายในตำแหน่งสบาย เป็นรุ่นที่ให้ความรู้สึกคล้ายนั่งเก้าอี้มากที่สุดในกลุ่ม การสั่งงานไม่ว่าจะคันเร่ง คลัทช์ เกียร์ นุ่มมือ เนียนเท้าเบาแรงไปหมด การขับขี่ที่ความเร็วต่ำทำได้ง่ายคล่องตัวและฉับไวมากๆ ส่วนการลีนรถหรือเลี้ยวด้วยการเอียงนั้นเหมาะกับการลีนเอียงลงแบบฉกไวตั้งรถแล้วเดินต่อ ศูนย์ถ่วงที่อยู่สูงและระยะห่างฐานล้อที่สั้นสุดในกลุ่มยังไม่อำนวยให้เอียงแบบก้ำกึ่งได้นานสักเท่าไรระบบกันสะเทือนเอาใจคนรักสบายไปเรื่อยๆ แบบนุ่มนิ่ม เข้ากันดีกับเครื่องยนต์ที่ต่อเนื่องนุ่มนวล แต่กับการใช้ความเร็วสูงแล้วจัดว่าเป็นโช้คที่ทำงานเร็วไปหน่อย โช้คดีดคืนตัวไวจนบางครั้งทำให้ตัวรถแกว่งง่ายไปนิด แต่ด้วย ตำแหน่งท่านั่งที่ดีไซน์มาเพื่อทำให้คุมรถได้ง่ายจึงไม่น่าตกใจนัก ต่อเนื่องมาถึงระบบเบรกที่ถือเป็นจุดเด่นเรื่องความปลอดภัยซึ่งค่ายนี้ เขาใส่ใจมากๆ ด้วยการติดตั้งระบบเบรก ABS มาให้ทั้งล้อหน้าและหลังทั้งยังเป็นรุ่นเดียวในกลุ่มที่ให้ระบบล้ำหน้าในการหยุดรถนี้มาแบบไม่ต้องร้องขอ อีกจุดที่แตกต่างอย่างมีระดับคือเรือนไมล์ที่เป็นแบบดิจิตอลทั้งระบบคันเดียวในกลุ่ม
และที่จะไม่เอ่ยถึงก็คงไม่ได้นั่นคือการที่สามารถใช้น้ำมันเบนซินที่มีส่วนผสมของแอทิลแอลกอฮอล์ไม่เกิน 20% (E20) เมื่อผนวกกับอัตราบริโภคที่น้อยสุดในกลุ่ม ก็ทำให้เราไม่สงสัยว่าทำไมถังน้ำมันที่มีความจุเพียง 13 ลิตร จึงเพียงพอกับเน็คเก็ดไลท์เวทรุ่นล่าสุดของค่ายอินทรีคันนี้
KAWASAKI Z250
จอดเทียบกัน 3 คันเรียงตามลำดับไหล่เจ้า Z250 เตี้ยกว่าเพื่อนด้วยความสูงเพียง 1,025 มม. เท่านั้น แถมเป็นคันเดียว ที่ใช้ไฟหน้าแบบตาคู่แนวนอนยังดูดุดันด้วยการดีไซน์ เครื่องยนต์และเฟรมสีดำทำให้มิติที่มองผ่านสายตาดูแน่นหนาไปหมด แฟริ่งของ Z250 ก็ออกแบบ ให้คลุมยาวต่อจากถังน้ำมันลงมาจนถึงหน้าเครื่องยนต์จนเรียกว่าเป็นฮาล์ฟแฟริ่งได้เลย ซึ่งเป็นรุ่นที่มีการปิดคลุมมากที่สุดในกลุ่มนี้ “เตี้ย ล่ำ ดำ ดุ” คงจะเหมาะกับ Z250 เมื่อสัมผัสกันด้วยสายตา มิติของตัวรถเมื่อคร่อมขี่จะให้ความรู้สึกเกินกว่า 250 ซีซีไปมาก ถังน้ำมันทรงกว้างแถมมีแฟริ่งมาช่วยขยายมิติข้างถังให้ดูใหญ่โตขึ้นไปอีก แฮนด์บาร์ความกว้างใกล้เคียงกับ CB300F แต่คนละทรง เอื้อมไปจับแฮนด์ไม่ลำบากเพราะตำแหน่งที่อยู่ใกล้แต่วางต่ำ ยกเท้าวางทั้งสองข้างเรียบร้อยคุณจะพบว่า “โอ้ว…นี่มันท่านั่งของรถสปอร์ตชัดๆ” ทั้งแฮนด์และพักเท้าอยู่ใกล้ ถังน้ำมันใหญ่กว้าง ขณะขับขี่รู้สึกถึงน้ำหนักของตัวรถได้ชัดเจน ดูเหมือนเตี้ยๆ สั้นๆ แต่ Z250 เป็นรถที่มีระยะห่างฐานล้อมากที่สุดในกลุ่ม
เครื่องยนต์ของ Z250 เป็นแบบ 2 สูบเรียงเหมือนกับ TNT300s ย่านกำลังจึงใกล้เคียงกันโดยธรรมชาติที่จะตอบสนองได้เต็มที่ในย่านกลางถึงปลายจากขนาดของลูกสูบที่เล็กและระยะชักที่สั้นกว่าสูบเดี่ยว ที่สำคัญคือมันเป็นรถในพิกัด 250 ซีซี กระนั้นตัวเลขในการทำสถิติความเร็วจากจุดหยุดนิ่ง Z250 ก็ไม่ได้เสียเปรียบมากมายสามารถทำเวลาได้ในวินาทีเดียวกันต่างแค่เพียงเศษเสี้ยวเท่านั้น แต่ที่น่าประทับใจคือรอบความเร็วในช่วงปลายที่ไหลได้ลึกและต่อเนื่องอย่างน่าหลงใหล ส่วนที่น่าจะได้รับการปรับปรุงก็คือการทำงานของคลัทช์ที่ยังใช้เวลามากกว่าในการจับตัวเต็มที่อย่างเห็นได้ชัด เสียงเครื่องยนต์รัวถี่แต่ก็ยังมีความนุ่มนวล การทำงานของระบบกันสะเทือนคือสิ่งที่โดดเด่น มากๆ ใน Z250 ระยะห่างฐานล้อที่ยาวไม่ได้เป็นปัญหากับการเลี้ยวแคบ สามารถที่จะเอียงรถเลี้ยวแล้วประคองเปลี่ยนองศาที่ต่อเนื่องได้อย่างไม่มีอาการขืนจากตัวรถส่งมาให้รู้สึก การทำงานของกันสะเทือนทั้งหน้าและหลังมีช่วงเวลาและความหนืดในการซับแรงที่ช่วยให้รถมีเสถียรภาพอย่างน่าประทับใจ ผนวกกับตำแหน่งท่านั่งที่กระชับสไตล์สปอร์ตมันจึงเป็นเน็คเก็ดที่นิ่งมากในทุกองศา และเลี้ยวได้ด้วยความมั่นใจสุดๆ ขณะที่ระบบเบรกนั้นให้มาอย่างพอเพียงด้วยดิสก์เบรกหน้าและหลังที่ไม่มีระบบช่วย แตกต่างตรงที่ใช้คาลิเปอร์ลูกสูบคู่ที่ด้านหลังเพิ่มความมั่นใจ
แตกต่างจากอีกสองรุ่นด้วยคอนเซ็ปต์ที่เน้นทางด้านสมรรถนะของทั้งเครื่องยนต์และกันสะเทือนตลอดจนมิติการขับขี่ที่โหนโค้งในสนามได้แม้ในสภาพรถเดิมๆ กับราคาค่าตัวที่เพิ่มจากอีกสองรุ่นตามไปด้วยเช่นกัน แต่ถ้าลองดูแล้วมันใช่เชื่อว่ามีคนยอมจ่ายส่วนต่างเพื่อฟิลลิ่งที่แตกต่างนี้
จตุรงค์ หมื่นทิพย์
“เป็นโอกาสดีที่ได้มาทดสอบกับเน็คเก็ดไบค์ไลท์เวทที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ขณะนี้ถึง 3 รุ่น 3 ค่าย Kawasaki, Honda และ Benelli กับสภาพเส้นทางการทดสอบในสนามแข่ง ด้วยรูปแบบเดียวกัน ทำให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งความโดดเด่นที่เห็นแว๊บแรกและสะดุดตาที่สุดคงจะเป็น Benelli TNT300S ด้วยออพชั่นต่างๆ ที่เน้นถึงสมรรถนะและความหล่อ ดิสก์เบรกหน้าคู่ โช้คหัวกลับ กับลูกเล่นอีกมากมาย แต่ค่ายปีกนก Honda CB300F ก็มีดีในแบบฉบับของความประหยัดและมาตรฐานกำลังของเครื่องยนต์ที่มาแบบราบเรียบ ขับขี่ง่ายเอาใจนักบิดมือใหม่ รูปร่างหน้าตามาแบบเรียบๆ แต่ก็ให้ออพชั่น เรือนไมล์อ่านค่าด้วยจอ LCD ฟูล ดิจิตอล และสุดท้ายกับ เน็คเก็ด สายพันธุ์สปอร์ต Kawasaki Z250 มีขนาดความจุซีซีที่น้อยกว่าเพื่อน ตัวรถถูกออกแบบมากึ่งๆ สปอร์ต โดยเป็นพื้นฐานเดียวกับ Ninja 250 ความหล่อคงได้ไฝว้กับ Benelli พอฟัดพอเหวี่ยง โดดเด่นกับตำแหน่งท่านั่ง ที่รับเข้ากับตัวรถ เบาะนั่ง พักเท้า ถังน้ำมัน แฮนด์บาร์ต่ำ ที่ให้นั่งแล้วเป็นหนึ่งเดียวกับตัวรถ และหลังจากที่ได้ลงไปหวดคันเร่งในสนามแล้ว การสลับรถขึ้นลงจากอีกไปอีกคันทำให้รู้ถึงความแตกต่างที่โดดออกมาก็คือ Benelli กับความสูงของ แฮนด์ เบาะนั่ง แต่พักเท้าต่ำ ส่วนอีกสองคันอารมณ์ไม่ค่อยเปลี่ยน แต่ละคันจะมีจุดเด่นที่น่าประทับ ใจ เครื่องยนต์ส่วนตัวแล้วต้องบอกเลยว่า การใช้งานที่ครบครัน CB300F ตอบสนองได้ทันใจ ในขณะที่การทรงตัวเลี้ยวพลิกรถต่างๆ ในโค้งต้องยกให้กับ Z250 ที่เข้าได้นิ่งและเดินคันเร่งได้เร็วในโค้งแบบไม่ค่อยมีอาการ และ TNT 300S กับระบบเบรกที่ สั่งได้อย่างมั่นใจในการจุ่มลึก และอาการล้นโค้งที่ค่อยๆ กดและดึงรถเข้าสู่เส้นทางได้อย่างไม่ยากเย็น แต่สุดท้ายแล้วความพึงพอใจในการเลือกก็ขึ้นอยู่กับความชอบและนิสัยของการขับขี่ของแต่ละคน”
จากใจนักทดสอบ
เขมมรัฐ สุธรรมวาท
“ต้องขอขอบคุณค่ายรถทุกค่าย และผู้สนับสนุนที่เห็นประโยชน์ของคอลัมน์นี้ เราเดินทางสู่สนามแก่งกระจานเซอร์กิตตั้งแต่เช้ามืด และปิดกล้องจบกองกันเมื่อตะวันลาตกมืดคาตาเช่นกันด้วยความตั้งใจที่จะหาข้อมูลในการนำเสนอได้อย่างชัดเจนที่สุด ผมและคู่หูกอล์ฟไรดิ้งผลัดกันเค้นสมรรถนะกันแบบแทบไม่หยุดพัก ด้วยความเร็วสูงสุดเท่าที่จะทำได้ในการทดสอบ ซึ่งอาจจะเกินการกว่าการใช้งานปกติไปบ้าง รวมทั้งการตั้งโจทย์เพื่อหาประสิทธิภาพที่แท้จริง ต้องขอขอบคุณสนามแก่งกระจานเซอร์กิตที่ผมว่าภูมิประเทศของสนามนี้มันเอื้อกับการทดสอบรถเอามากๆ ทำให้เราเห็นความแตกต่างของรถแต่ละคันในแต่ละส่วนของสนามได้ไม่ยาก พอลองได้ขี่เข้าจริงๆ แล้วก็รักพี่เสียดายน้องนะครับ แต่ละคันก็ถูกพัฒนามาด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าในแต่ละด้าน ซึ่งพอจะสรุปได้ว่าถ้ารถที่ให้ออพชั่นมาดีขี่เที่ยวชมวิวยาวๆ นั่งสบายๆ ทั่วเหนือใต้ผมคงจะเลือกใช้ TNT300s แต่ถ้าอารมณ์เปลี่ยวมันเขี้ยวอยากมันส์ในสนามผมคงเลือกเป็น Z250 ส่วนการใช้งานที่เจอการจราจรที่หนาแน่นบ่อยๆ และความสามารถการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมันก็เป็นเหตุผลที่น่าสนใจใน CB300F เป็นความรู้สึกส่วนตัวนะครับ ความแตกต่างของรถทั้งสามรุ่นที่เราทำการทดสอบในครั้งนี้หวังว่าคงจะเป็นแนวทางให้แฟนๆ ไรดิ้งที่กำลังตัดสินใจได้ใช้เป็นข้อมูลในเชิงลึกได้มากกว่าแค่มองเห็นหน้าค่าตาและการอ่านจากสเป็คคู่มือ เราคงไม่สามารถทำหน้าที่ตัดสินว่าคันไหนดีสุดหรือแย่สุด เพราะผมและทีมงานยังเชื่อว่ารถหนึ่งคันไม่ได้สามารถตอบโจทย์ทุกคน เราเพียงทำหน้าที่สื่อความจริงออกไปเท่านั้น ส่วนการตัดสินใจเลือกใช้สุดท้ายย่อมขึ้นกับตัวคุณเองครับ”